วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2565 วันสตรีสากล

วันที่เผยแพร่ : 08 มี.ค. 2565

วันสตรีสากล (International Women's Day) วันสตรีสากล

            (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วยสำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 ได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีผู้ใช้แรงงานและสตรีในสาขาอาชีพ ต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในโอกาส วันสตรีสากล และระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา ประวัติความเป็นมาของวันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)   จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก8ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล  วันสตรีสากลในประเทศไทย ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งให้เห็นความสำคัญของสุภาพสตรีเช่นกัน ดังนั้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2532 ประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา นับตั้งแต่นั้นมาวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในวันสตรีสากลด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จัก และเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล อีกด้านหนึ่งก็ได้ จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณแก่สตรีดีเด่นประจำปี เนื่องในวันสตรีสากล ทั้งนี้ก็เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ สตรีผู้สร้างประโยชน์ในสาขาอาชีพต่าง ๆ  การถือกำเนิดของวันสตรีสากลนี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการขจัดการแบ่งแยกและการเหยียดเพศให้หมดไป ดังจะเห็นได้ว่าโลกในยุคใหม่นี้ แต่ละแห่งให้ความสำคัญและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาทอย่างแพร่หลายต่อการขับเคลื่อนของสังคม ดังนั้น "วันสตรีสากล" จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกคนได้แสดงความสามารถ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความทัดเทียมกันได้อย่างดี ความสำคัญของวันสตรีสากล วันสตรีสากล บรรดาผู้หญิงในหลายประเทศจากทุกทวีปรวมเป็นองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงจะรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลอง และร่วมรำลึกการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง อย่างไรก็ตามในหลายประเทศเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล จึงได้ใช้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันหยุดประจำชาติอีกด้วย